Bangpakok Hospital
  • A
  • A
  • A
BPK Hotline

คุณผู้ชายที่มีตัวอสุจิไม่แข็งแรง หรือไม่มีตัวอสุจิ จะมีบุตรได้ไหม

4 ม.ค. 2567


คุณผู้ชายที่มีตัวอสุจิไม่แข็งแรง หรือไม่มีตัวอสุจิ จะมีบุตรได้ไหม
     ภาวะมีบุตรยากที่มีสาเหตุมาจากฝ่ายชายพบได้ถึง 20 % ซึ่งวิธีการง่ายๆที่จะทราบได้เบื้องต้นคือการตรวจวิเคราะห์น้ำเชื้อ หรือ Semen Ananlysis วิธีนี้จะทำให้เราได้ข้อมูลดังต่อไปนี้ คือ ปริมาณน้ำเชื้อ จำนวนและความเข้มชันของตัวอสุจิ ความสามารถในการเคลื่อนไหวของตัวอสุจิ รูปร่างของตัวอสุจิ นอกจากนี้ยังทราบว่าตัวอสุจิที่ออกมาแต่ละครั้งนั้นมีตัวตายมากน้อยแค่ไหน มีเซลล์เม็ดเลือดขาวที่บ่งบอกว่ามีการอักเสบหรือติดเชื้อปะปนออกมาด้วยหรือไม่ ทั้งนี้ข้อมูลแต่ละอย่างจะมีค่ามาตรฐานที่ถูกกำหนดโดย องค์การอนามัยโลก ปี ค.ศ. 2021 ยกตัวอย่างเช่น จำนวนตัวอสุจิ อย่างน้อยต้องมากกว่า 39 ล้านตัว จึงมีโอกาสที่จะตั้งครรภ์ด้วยวิธีธรรมชาติได้ภายใน 1 ปี หลังจากที่ตรวจวิเคราะห์น้ำเชื้อแล้วพบว่าไม่ผ่านเกณฑ์เบื้องต้น อาจจะต้องมีการตรวจวิเคราะห์ซ้ำในช่วง 2 - 4 สัปดาห์เพื่อยืนยันผลที่แน่นอน แต่จะตรวจยืนยันผลเร็วขึ้นในรายที่ตรวจไม่พบตัวอสุจิ หรือ Azoospermia หลังจากยืนยันผลแล้วว่ามีความผิดปกติ แพทย์ก็จะทำการซักประวัติละเอียดเพื่อหาปัจจัยที่มีผลต่อการสร้างและความแข็งแรงต่อตัวอสุจิ มีการตรวจร่างกายฝ่ายชายโดยเฉพาะบริเวณอัณฑะและถุงอัณฑะ รวมทั้งอวัยวะเพศส่วนอื่นๆเพื่อหาสาเหตุต่อไปยกตัวอย่าง

สาเหตุการมีบุตรยากทางด้านฝ่ายชายมีดังต่อไปนี้
  1. ความผิดปกติของฮอร์โโมนที่มีผลต่อการสร้างตัวอสุจิ พบได้ 5-15 %
  2. ความผิดปกติที่อัณฑะซึ่งเป็นอวัยวะที่ใช้สร้างตัวอสุจิ พบได้ 70-80 %
  3. ความผิดปกติที่บริเวณอวัยวะที่ใช้นำส่งอสุจิออกมาภายนอกร่างกาย พบได้ 2-5%
  4. กลุ่มไม่พบสาเหตุ พบได้ 10-20 %
     การจะทราบถึงสาเหตุเฉพาะนั้นมีความจำเป็นต้องตรวจพิเศษเพิ่มเติม ได้แก่การเจาะเลือดดูค่าฮอร์โมน FSH , LH, free testosterone และ prolactin เป็นต้น การตรวจเพิ่มเติมทางพันธุกรรม และการทำอัลตร้าซาวน์เพื่อดูภายในถุงอัณฑะ ท่อทางเดินอสุจิ และต่อมลูกหมากเป็นต้น

     การรักษาภาวะไม่มีตัวอสุจิ (Azoospermia หรือ ตรวจพบตัวอสุจิน้อยมาก (Severe Oligozoospermia) ภาวะนี้ต้องทำการวินิจฉัยก่อนว่าการที่น้ำเชื้อที่หลั่งออกมาแล้วไม่มีตัวอสุจินั้น เกิดจากการที่ท่อนำตัวอสุจิอุดตัน หรือเกิดจากการที่อัณฑะมีปัญหาจึงผลิตตัวอสุจิได้น้อยมากหรือไม่มีเลย เบื้องต้นคือการตรวจพิเศษดังที่กล่าวไว้ข้างต้น สำหรับรายที่พบว่ามีท่ออสุจิอุดตันทั้ง 2 ข้าง หรือมีปัญหาที่บริเวณอัณฑะผิดปกติ การทำหัตถการที่บริเวณอัณฑะและท่อนำส่งตัวอสุจิ หรือSurgical sperm retrieval SSR) ก็จะเป็นวิธีที่ใช้ทั้งในการรักษาภาวะมีบุตรยากและวินิจฉัยที่บริเวณอัณฑะว่ายังพอมีการสร้างตัวอสุจิได้หรือไม่ ซึ่งมีหลายวิธีดังนี้
  1. Percutaneous epididymal sperm aspiration (PESA) : การใช้เข็มดูดตัวอสุจิโดยตรงจากบริเวณท่อนำอสุจิ
  2. Testicular sperm aspiration (TESA) : การใช้เข็มดูดผ่านถุงอัณฑะโดยตรงเข้าไปที่อัณฑะ เพื่อให้ได้เชลล์ที่ใช้สร้างตัวอสุจิ รวมทั้งสารคัดหลั่งในอัณฑะ เพื่อคัดแยกตัวอสุจิภายใต้กล้องจุลทรรศน์อีกครั้งหนึ่ง
  3. Testicular sperm extraction (TESE) : เป็นการกรีดไปที่บริเวณถุงอัณฑะโดยตรง เพื่อให้ได้เนื้อเยื่อที่ใช้สร้างตัวอสุจิได้มากขึ้น มักใช้ในรายที่สงสัยว่าการสร้างอสุจิลดลงจากปัจจัยจากอัณฑะโดยตรง
การทำหัตถการ Surgical sperm retrieval (SSR) เป็นทั้งวิธีวินิจฉัยและใช้รักษาภาวะมีบุตรยากไปในตัว ในรายที่ตรวจพบเซลล์อสุจิที่ใช้งานได้ ก็จะมีความจะเป็นต้องรักษาด้วยวิธีการ ICSI ต่อไป เนื่องจากตัวอสุจิที่พบนั้นมีปริมาณน้อยมาก จึงไม่เพียงพอในการรักษาด้วยวิธีอื่นๆเช่นฉีดเชื้อในโพรงมดลูก หรือ IUl ได้

สนับสนุนข้อมูลโดย : นายแพทย์ธนิก โชคจิรวัฒน์ แพทย์เฉพาะทางด้านสูติศาสตร์นรีเวชกรรมเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์
โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร. 1745
Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.